รันทดเต่าสาวตนุสาว ถูกใบพัดเรือฟันกระดองแตก เตรียมทำกระดองเทียมตัวแรกของโลก 
เต่าตะนุสาววัย 15 ปี กลับจากฟิลิปปินส์ ผสมพันธุ์วางไข่ที่ถิ่นเกิดเกาะคราม สัตหีบ คลื่นลมจัดซัดเข้าใต้ท้องเรือ ใบพัดฟันกระดอกหลังแตก หลายแห่งลอยติดเกยหาดทุ่งโปรง กองพันลาดตระเวน นายทหารนักรบนาวิกโยธิน ตรวจความเรียบร้อยพบนำมามอบให้ศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล ทัพเรือ ประสานแพทย์ ทำการรักษาด่วน เตรียมทำกระดองเทียมเต่าทะเลตัวแรกของโลก (16 กรกฎาคม 2552) นาวาเอก มนตรี จึงมั่นคง ผู้อำนวยการ ศูนย์ต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กองทัพเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และ นาวาเอก อารัญ เจียมอยู่ รองผู้อำนวยการ ได้รับมอบเต่าตนุ เพศเมีย วัย 15 ปี น้ำหนัก 43.5 กิโลกรัม ความยาวกระดอง 77 เซนติเมตร ความกว้างของกระดอง 68 เซนติเมตร ได้รับบาดเจ็บสาหัส กระดองหลังถูกใบพัดเรือฟันแตกหลายแห่ง กำลังอยู่ในอาการซึมเศร้า จาก เรือเอก ลำพอง ทองสงค์ และพันจ่าเอก ธงชัย รุ่งเรือง สังกัดกองพันลาดตระเวน กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จำนวน 1 ตัว เบื้องต้นแจ้งว่า ขณะตรวจความเรียบร้อยพื้นที่ ได้พบเต่าตัวดังกล่าวนอนเกยตื้นอยู่ที่ชายหาด อ่าวทุ่งโปรง พื้นที่รับผิดชอบการอนุรักษ์ป่าชายเลนของ กองพันลาดตระเวน จึงได้จับมามอบให้กับศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ดำเนินการรักษาให้รอดชีวิต นาวาเอก มนตรี จึงมั่นคง เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับมอบแม่เต่าสาววัย 15 ปี ซึ่งเป็นเต่าวัยเจริญพันธุ์ วัยผสมพันธุ์ ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากข้าราชการ กองทัพเรือ ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีบาดแผลถูกของมีคมฟันบนกระดองหลังแตกหลายแห่งลึกเข้าไปในเนื้อ จึงได้แจ้งให้ นายสัตวแพทย์ ธนัยนันท์ โนคำ ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ทราบและมาตรวจสอบเต่า พบว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาเนื้อภายในให้หายดีก่อนจึงได้ช่วยกันให้ยารักษาแผล ทำความสะอาดบาดแผล และจะดำเนินการประสานไปยัง รศ.สวพ.ญ.ดร.นันทริกา ซันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการทำกระดองเทียมให้กับแม่เต่าตัวนี้ให้มีชีวิตรอด เพราะเคยทำกระดองเทียมเต่าบกมาแล้ว ถ้าสามารถทำกระดองเทียม รักษาเต่าให้หายจากบาดเจ็บ จะเป็นเต่าทะเลตัวแรกของโลกที่ประเทศไทยทำสำเร็จ ส่วนแม่เต่าวัยเจริญพันธ์ตัวนี้ วิเคราะห์กันว่าเป็นเต่าที่เกิดจากเกราะคราม เมื่อแข็งแรงก็เดินทางไปตามวิถีแม่เหล็กธรรมชาติ และไปยังหมู่เกาะประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ก็กลับมาผสมพันธุ์และวางไข่ ณ ที่เกิด แต่โชคร้ายที่ขณะกลับมาเกิดคลื่นลมแรง ทำให้ซัดตัวเต่าเข้าไปปะทะกับเรือและถูกใบพัดเรือฟันที่กระดองแตก บาดเจ็บ พลเรือตรี จักรชัย ภู่เจริญยศ ผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (ผบ.สอ.รฝ.)เปิดเผยว่า ถือว่ากองทัพเรือประสบความสำเร็จในเรื่องของการปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลทั้งภายในกองทัพ และภายนอกกองทัพเรือ เพราะจากการที่มีข้าราชการ ประชาชนไม่นิ่งดูดายกับการพบเต่าทะเลทุกสภาพแวดล้อมก็จะแจ้งให้ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือทราบ และเพื่อพบเต่าผิดปกติก็จะนำมาส่งให้กับบ่อเต่า ถือว่เป็นเรื่องดีทำให้กองทัพเรือมีกำลังใจในการดำเนินการอนุรักษ์เต่าทะเลต่อไป ส่วนแม่เต่าที่ได้รับบาดเจ็บ ในเบื้องต้นจะต้องขอรับการสนับสนุนจาก รศ.สวพ.ญ. ดร.นันทริกา ซันซื่อ ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จในการรักษาเต่ามาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของการทำกระดองเทียม หรือซ่อมแซมในส่วนที่ธรรมชาติไม่สามารถทำได้ มาดำเนินการช่วยรักษาแม่เต่าวัยเจริญพันธ์ต่อไป นิราช ทิพย์ศรี ภาพ / ข่าว 

 |