โครงการอบรมการบริหารจัดการธนาคารปูม้าเพื่อการอนุรักษ์ |
|
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดโครงการอบรม “การบริหารจัดการธนาคารปูม้าเพื่อการอนุรักษ์” ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้า สถานีวิจัยประมงศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดชลบุรี 
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 เวลา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นำทีมโดย ผศ.ดร. จริยาวดี สุริยพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมด้วยนักวิจัยจากส่วนงานต่าง ๆ จัดโครงการอบรม “การบริหารจัดการธนาคารปูม้าเพื่อการอนุรักษ์” ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้า สถานีวิจัยประมงศรีราชา หาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดชลบุรี โดยได้รับเกียรติจากคุณองอาจ ประเสริฐจิตต์ รองนายกเทศมนตรีเมืองชลบุรี และคุณสายันห์ จันทร์ช่วย ประมงอำเภอเมืองชลบุรี เข้าร่วมพิธีเปิด คุณอลงกต อินทรชาติ หัวหน้าสถานีวิจัยประมงศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการ และ ผศ.ดร.ประสาร อินทเจริญ หัวหน้าภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ 







การอบรมในครั้งนี้ เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการธนาคารปูม้าเพื่อการอนุรักษ์ทั้งภาคทฤษฎีและการศึกษาดูงาน โดยในส่วนภาคทฤษฎีเป็นการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของธนาคารปูม้า การเพาะพันธุ์อนุบาลปูม้าและวงจรชีวิต คุณภาพน้ำและเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัด รวมถึงแนวทางการพัฒนาธนาคารปูม้าและการอนุรักษ์ จากนั้นเป็นกิจกรรมศึกษาดูงาน ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้า ซึ่งถ่ายทอดความรู้โดยคุณสาโรจน์ เริ่มดำริห์ นักวิชาการประมง สถานีวิจัยประมงศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการจัดอบรม ผู้เข้าร่วมโครงการร่วมกันปล่อยปูลงสู่ทะเลบริเวณริมชายหาดของสถานีวิจัยประมงศรีราชา โครงการอบรม “การบริหารจัดการธนาคารปูม้าเพื่อการอนุรักษ์” เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนากิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมการส่งเสริมธนาคารปูม้าบนฐานทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้าของชุมชนในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยองอย่างยั่งยืน โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งปัจจุบัน โครงการวิจัยให้การสนับสนุนและขับเคลื่อนกิจกรรมเกี่ยวกับธนาคารปูม้าเพื่อการอนุรักษ์ทั้งสิ้น 7 ธนาคาร ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง โดยให้การสนับสนุนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธนาคารปูม้า และส่งเสริมให้ชาวประมงอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม เพื่อสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์เพื่อเพิ่มทรัพยากรปูม้าในธรรมชาติ รวมถึงสามารถรับผิดชอบกิจกรรมธนาคารปูม้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ 










|