|
|
|
|
Home
|
ศุลกากร ทลฉ. แจงตู้สินค้าตกค้าง 1,000 ตู้ ไม่ใช่ตู้สุกรแช่แข็งแน่นอน |
|
สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการกับของตกค้างประเภทสุกรแช่แข็ง ยันไม่ใช่สุกรแช่แข็ง 1,000 ตู้ ตามที่มีข่าวออกมาอย่างแน่นอน โดยเป็นตู้สินค้าคงค้างอื่นภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง ขณะนี้เตรียมนำสุกรแช่แข็งไปทำลายที่จังหวัดสระแก้วในเร็ว ๆ นี้แล้ว
วันนี้( 9 ส.ค.) นายฐิติพงศ์ คำผุย ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากร 1 ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้จัดประชุมเพื่อชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการกับของตกค้างประเภทสุกรแช่แข็งที่ตกเป็นของแผ่นดิน ที่มีการนำเสนอข่าวว่ายังมีตู้ตกค้างอยู่ในท่าเรือแหลมฉบังนับพันตู้ และตู้สินค้าคงค้างอื่นภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง โดยมี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายวาริส วิสารทานนท์ ผู้เชียวชาญด้านเทคนิคการตรวจสอบสินค้า นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นายจิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี นายจิระศักดิ์ จั่นบำรุง ผู้จัดการสมาคมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสินค้าและคอนเทนเนอร์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมเอนกประสงค์ ชั้น 3 อาคารพิพัฒน์อากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยที่ประชุมได้มีการรายงานและรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการกับของตกค้างประเภทสุกรแช่แข็งที่ตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 161 ตู้ การดำเนินคดีอาญากับตู้สินค้าดังกล่าว และการดำเนินการกับตู้สินค้าคงค้างประเภทภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง และตามที่มีการนำเสนอข่าว ว่ามีตู้สินค้าคงค้างประเภทสุกรและอื่น ๆ จำนวนกว่า 1,000 ตู้ ภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง นั้นไม่เป็นความจริง ก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบกับหลายหน่วยงาน เช่น ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ ตัวแทนเรือ ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และการท่าเรือแห่งประเทศไทย สำหรับตู้สินค้าที่คงค้างในท่าเรือแหลมฉบัง ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2566 มีทั้งสิ้น 937 ตู้ (ได้แก่ ตู้สินค้าทั่วไป 679 ตู้ และตู้สินค้าเก็บความเย็น 258 ตู้) แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1. ตู้สินค้าอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จำนวน 254 ตู้ (ได้แก่ ตู้สินค้าทั่วไป 246 ตู้ และตู้สินค้าเก็บความเย็น 8 ตู้) 2. ตู้สินค้าที่ดำเนินการเสร็จสิ้นในขั้นศุลกากรโดยอยู่ระหว่างการขายทอดตลาด/ส่งมอบ/ทำลาย จำนวน 538 ตู้ (ได้แก่ ตู้สินค้าทั่วไป 298 ตู้ และตู้สินค้าเก็บความเย็น 240 ตู้) และ 3. ตู้สินค้าที่เป็นของกลางในคดีอาญา ไม่สามารถขายทอดตลาด/ส่งมอบ/ทำลาย โดยต้องรอผลคดี จำนวน 145 ตู้ (ได้แก่ ตู้สินค้าทั่วไป 135 ตู้ และตู้สินค้าเก็บความเย็น 10 ตู้) โดยใช่ใช่ตู้สุกรแช่แข็งกว่า 1,000 ตู้ ที่สื่อมวลชนเสนอข่าวอย่างแน่นอน นายจิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตรวจสอบตู้ทั้ง 161 ตู้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสืบสวนของดีเอสไอที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายของศุลกากรและกรมปศุสัตว์ ในส่วนของกลางจะมีการประชุมและมีการหาพื้นที่ในการทำลายฝังกลบเนื้อสุกรนี้แล้ว คือที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สระแก้ว ตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว โดยขุดหลุมขนาดความยาว 150 เมตร กว้าง 9 เมตร จำนวน 3 หลุม แสตนบายไว้อีก 1 หลุม รวมเป็น 4 หลุม รอแค่ส่งมอบเนื้อสุกรดังกล่าวเท่านั้น นายจิระศักดิ์ จั่นบำรุง ผู้จัดการสมาคมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสินค้า เปิดเผยว่าที่มีข่าวว่ามีการซ่อนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเนื้อสุกรประมาณ 1,000 ตู้นั้นไม่เป็นความจริง เราตรวจเช็คตู้ที่ทำความเย็นในวันที่ 31 กรกฎาคม มีจำนวน 218 ตู้ ส่วนเรื่องผลกระทบของผู้ประกอบการท่าเรือนั้น คือเรื่องการเรียกเก็บค่าเก็บรักษา ค่าไฟฟ้า จากผู้นำเข้า จนถึงปัจจุบันค่าไฟฟ้ามีจำนวนเงิน 46 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา จึงอยากให้ทางดีเอสไอนำค่าเสียหายเหล่านี้รวมเข้าไปในสำนวนการสอบสวนด้วย เพราะเราเป็นผู้เสียหายจากการนำเข้าเนื้อสุกรที่ผิดกฎหมาย นายฐิติพงศ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ผลการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางและของตกค้าง และของผ่านแดนที่ตกเป็นของแผ่นดินในปีงบประมาณ 2564 และ 2565 มีการดำเนินการขายทอดตลาด/ส่งมอบ/ทำลาย รวมทั้งสิ้น 342 ตู้ โดยในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 204 ตู้ และปีงบประมาณ 2565 จำนวน 138 ตู้ ในส่วนปีงบประมาณ 2566 นั้น ได้ดำเนินการเกี่ยวกับตู้สินค้าของกลางของตกค้าง และของผ่านแดนที่ตกเป็นของแผ่นดิน เรียบร้อยแล้ว จำนวน 54 ตู้ ส่วนตู้สินค้าตกค้างประเภทสุกรแช่แข็งที่ตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 161 ตู้ นั้น ได้มีการเปิดสำรวจอย่างต่อเนื่องในรูปเเบบของคณะทำงานร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษและกรมปศุสัตว์ จนสำรวจเเล้วเสร็จทั้ง 161 ตู้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 และปัจจุบัน สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้เตรียมการส่งมอบสินค้าประเภทสุกรดังกล่าวให้กรมปศุสัตว์เพื่อนำไปดำเนินการทำลาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าการทำลายสินค้าดังกล่าวซึ่งเป็นของกลางในคดีอาญา จะส่งผลให้ขาดพยานหลักฐานหรือเสียหายรูปคดีของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือไม่ ประการใด หากได้รับคำตอบเรียบร้อยแล้ว จะรีบดำเนินการในลำดับต่อไปทันที พร้อมกันนี้ได้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการสายเดินเรือ เพื่อขอความร่วมมือในการดำเนินการกับของกลางดังกล่าว ซึ่งได้รับการประสานงานในเบื้องต้นแล้วว่า ผู้ประกอบการสายเดินเรือหลายรายมีความประสงค์ในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำลาย โดยมีจำนวนตู้ทั้งผู้ประกอบการสายเดินเรือมีความประสงค์จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดจำนวน 97 ตู้ ส่วนตู้ที่เหลืออีก 64 ตู้นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้ประกอบการสายเดินเรือและบริษัทแม่ของผู้ประกอบการสายเดินเรือดังกล่าว “กรมศุลกากรขอย้ำว่า เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย และสอดคล้องกับนโยบายของกรมฯ จึงได้มีมาตรการให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้า และให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน โดยทำการตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่จากด่านกักกันสัตว์ กรมปศุสัตว์ทุกกรณี เเละในกรณีที่มีการตรวจพบความผิดซึ่งสินค้าประเภทสุกร ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรทำการจับกุมเเละดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนโดยไม่ยินยอมให้ทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร โดยกรมฯ พร้อมอํานวยความสะดวกและสนับสนุนพนักงานสอบสวนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมตรวจสอบ รวมทั้งเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทสุกรที่มีเชื้อโรคและอันตรายต่อผู้บริโภคจากต่างประเทศ” นายฐิติพงศ์ กล่าว |
|