ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี อุ้มภรรยาลงน้ำ เปิดงานประเพณีสงกรานต์ "อุ้มสาวลงน้ำ" ของชาวเกาะขามใหญ่ แห่งเดียวในโลก เพื่อสืบสานประเพณีอันเก่าแก่ของชาวเกาะสีชัง จ.ชลบุรี โดยมีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมประเพณีกันเป็นจำนวนมาก เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บริเวณชายหาดเกาะขามใหญ่ ต.ท่าเทววงษ์ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี จังหวัดชลบุรี เป็นประธานในการเปิดงานเทศกาลสงกรานต์เกาะสีชัง วันไหลเกาะขาม “อุ้มสาวลงน้ำ” ประจำปี 2567
พร้อมด้วย นางปภัสรา ศรีทอง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี นายชูศักดิ์ นันทิธัญญธาดา นายอำเภอเกาะสีชัง นายสรศักดิ์ เภตรา นายกเทศมนตรีตำบลเกาะสีชัง, ชาวบ้าน อ.เกาะสีชัง และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมงานจำนวนมาก โดยไฮไลท์ในวันนี้ นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้อุ้มนางปภัสรา ศรีทอง ภรรยาลงน้ำทะเลเพื่อเป็นการเปิดประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ ในปีนี้ด้วย สำหรับสงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ หรือประเพณีสงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำที่เกาะขามใหญ่ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี จัดขึ้นทุกปี เป็นที่สนุกสนานของหนุ่มสาวชาวเกาะทั้งสองเกาะ ในปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 18 เม.ย. 67 ที่บริเวณเกาะขามใหญ่ ซึ่งห่างจากตัวอำเภอเกาะสีชัง 1 กม. และนั่งเรือจากท่าเรือเกาะลอย ศรีราชา มาที่เกาะขามใหญ่ 12 กม. ใช้เวลาเดินทางมาประมาณ 45 นาที ซึ่งภายในงานนั้นมีกิจกรรมมากมาย เช่น พิธีทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ พิธีกองข้าวบวงสรวง การก่อพระเจดีย์ทราย การละเล่นพื้นบ้าน แข่งขันเรือกระทะ มวยทะเล และประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอเกาะสีชังจึงได้จัดประเพณีกองข้าวและอุ้มสาวลงน้ำขึ้นทุกปี เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็นถึงคุณค่าของประเพณีที่เก่าแก่ และร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีให้คงอยู่สืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งชาวเกาะสีชังนั้นจะไม่นิยมเล่นสาดน้ำกันมาตั้งแต่ดั้งเดิม เนื่องจากมีปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด ซึ่งการเล่นจะมีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น “อุ้มสาวลงน้ำ” หรือ “จูงมือลงทะเล” สำหรับความโดดเด่นของงานสงกรานต์เกาะสีชังที่ไม่มีใครเหมือน ก็เห็นจะเป็น ประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ ซึ่งเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 18 เม.ย.ของทุกๆ ปี ที่เกาะขามใหญ่ เนื่องจากชาวเกาะสีชังจะมีอาชีพประมงเป็นอาชีพหลัก ต้องออกทะเลอยู่เป็นประจำ ดังนั้นในช่วงประเพณีสงกรานต์จึงเหมือนเป็นวันที่พวกเขาได้หยุดพัก ไม่ออกทะเลแต่จะพาครอบครัว และประชาชนนักท่องเที่ยวและจะพาเดินทางจากเกาะสีชังมารวมตัวกันที่เกาะขามใหญ่ รวมทั้งชาวท้องถิ่น หรือลูกหลานที่ไปทำงานที่อื่นๆ ก็จะกลับมายังบ้านเกิดที่เกาะสีชังในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกปี ทำให้หนุ่มสาวและครอบครัวได้มีโอกาสได้พบเจอกัน มาปรับความเข้าใจ ขอขมาลาโทษในสิ่งที่ผิดข้องใจกัน ในวันที่ 18 เม.ย.ของทุกปี ชายหนุ่ม หรือผู้สูงวัย ก็จะเลือกสาวที่ชอบแล้วขออนุญาตอุ้มลงเล่นน้ำทะเล ในระหว่างที่อุ้มลงน้ำก็จะอวยพรซึ่งกันและกัน นอกจากหนุ่มสาวแล้ว ผู้สูงอายุก็จะถูกลูกหลานอุ้มลงเล่นน้ำเช่นกัน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสได้สนุกสนานร่วมกับครอบครัวและลูกหลาน และเป็นการขอพรในวันสงกรานต์ ซึ่งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและเทศที่เป็นผู้หญิงที่ไม่ใช่คนพื้นที่ เข้ามาท่องเที่ยวในงานประเพณีอุ้มสาวลงน้ำที่เกาะขามใหญ่นี้ ก็จะไม่มีการถือเนื้อถือตัว จะยอมให้ชายหนุ่ม หรือผู้สูงวัยอุ้มลงน้ำกัน "ในงานประเพณีนี้ชาวต่างประเทศหลายชาติหลายภาษา ต่างเดินทางมาท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก โดยจะเดินทางมาพักค้างคืนที่เกาะสีชัง แล้วมาร่วมเล่นอุ้มสาวลงน้ำกันอย่างสนุกสนาน รวมทั้งถ่ายรูปกลับไปเพื่อให้เพื่อนฝูงที่อยู่ต่างประเทศได้ดูกัน ซึ่งประเพณีนับเป็นประเพณีที่แปลกมีมาตั้งแต่สมัยโบราณที่ชาว อ.เกาะสีชัง ยังได้อนุรักษ์ไว้เพื่อให้ลูกหลานได้ปฏิบัติตาม รวมทั้งเป็นเรื่องแปลกและทึ่งแก่ชาวต่างชาติที่ได้พบเห็นจนเดินทางมาท่องเที่ยวกันจนโด่งดังไปทั่วโลกหลายปีแล้ว และซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งเดียวในโลกของงานสงกรานต์วันไหล อุ้มสาวลงน้ำ เกาะขามใหญ่ |